AMPWORKS MODELING SIGNAL PROCESSOR

แนวคิดการทำงานของ Ampworks ก็คือความเป็นแอมป์โมเดลลิ่งโปรเซสเซอร์ขนาดพกพา สำหรับงานแสดงสด,งานบันทึกเสียงในสตูดิโอ หรืองานบนคอมพิวเตอร์ในโฮมสตูดิโอส่วนตัวของคุณเอง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการอัดเสียงด้วยระบบดิจิตัลนั้นยังห่างไกลความเป็นธรรมชาติของซาวน์ดแอมป์ที่แท้จริงอยู่มากโข แต่ด้วยเทคโนโลยีการจำลองเสียงที่เรียกว่า REMs อันละเอียดอ่อนของ Korg จะทำให้คุณลืมความรู้สึกเก่าๆนั่นได้ทันที และด้วยการใช้งานแบบ "Plug & Play" ของ Ampworks ที่รวมเอาหัวแอมป์รุ่นคลาสสิค ตู้ลำโพง (Cabinet) และเอฟเฟกต์หลากชนิดไว้ด้วยกัน และสิ่งที่เหลือที่ต้องทำก็เพียงแต่เสียบแจ็คแล้วก็ "ลุย" เท่านั้นเอง!

หลายคนคงสงสัยว่า REMs คืออะไร? เกี่ยวข้องกับ Korg อย่างไร? ทำไมมัลติเอฟเฟกต์ของ Korg หลายๆตัวถึงต้องใช้เจ้า REMs ที่ว่านี้? ซึ่งเราก็พอจะสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆดังนี้ : REMs หรือ Resonant Structure & Electronic Circuit Modeling System เป็นเทคโนโลยีระบบการจำลองโครงสร้างเสียงและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลิขสิทธิเฉพาะของ Korg ที่สามารถเลียนแบบโครงสร้างทางธรรมชาติของเสียงเครื่องดนตรีไม่ว่าจะมีระดับความซับซ้อนละเอียดอ่อนขนาดไหนได้อย่างเหมือนจริงที่สุด ตั้งแต่เครื่องดนตรีอคูสติกไปจนถึงเลียนแบบเสียงเครื่องดนตรีที่ผ่านกระบวนการทางไฟฟ้าเช่นเสียงกีตาร์ไฟฟ้าที่ใช้ปิ้กอัพต่างกัน เสียงกีตาร์ที่เล่นผ่านแอมป์และตู้ลำโพงต่างชนิดกัน ฯลฯ ซึ่งบริษัท Korg ได้พยายามคิดค้นจนได้ออกมาเป็นระบบโมเดลลิ่งที่สามารถให้น้ำเสียงสมจริงและใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด ระบบ REMs ตัวนี้สามารถจำลองเสียงเครื่องดนตรีของคุณ (ซึ่งในที่นี้ก็คือกีตาร์นั่นเอง)ให้ออกมามีแคแรกเตอร์ของเสียงตรงตามแบบฉบับเฉพาะของแหล่งกำเนิดอย่างที่เราต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมิติความก้องกังวานของเสียงตามสภาพแวดล้อม หรือจะเป็นชนิดของตู้แอมป์รวมถึงลักษณะของตู้ลำโพง รวมถึงเอฟเฟกต์สารพัดชนิด

ด้วยขนาดที่เล็กกระทัดรัด (5.67 x 3.07 x 1.89 นิ้ว) กับน้ำหนัก 2 ขีดกว่าๆ! คิดดูซิว่ามันจะดีขนาดไหนที่คุณสามารถพกหัวแอมป์พร้อมตู้ลำโพงเป็นสิบแบบ แถมเอฟเฟกต์อีกสารพัดชนิดใส่กระเป๋าหรือกล่องกีตาร์ไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกไม่ว่าจะเป็นห้องซ้อม ห้องบันทึกเสียงหรือใช้แสดงสดบนเวที นอกจากจะเวิร์คสำหรับการเล่นสดแล้วมันยังเป็นแอมป์โมเดลลิ่งในฝันของนักดนตรีบันทึกเสียงอีกด้วย คุณสามารถใช้ Ampworks ในการบันทึกเสียงในสตูดิโอโดยต่อตรงเข้าไลน์หรือบอร์ดมิกซ์ หรือจะใช้กับโฮมสตูดิโอและระบบการบันทึกเสียงด้วยคอมพิวเตอร์ PC ที่บ้านของคุณเองก็ได้

และเพื่อให้คุณใช้งานได้ง่ายขึ้นไปอีก ในแต่ละแอมป์โมเดลที่คุณเลือกจะมีซาวน์ดที่พรีเซ็ตไว้ให้เรียบร้อยแล้ว (รวมถึงการเลือกตู้ลำโพงและเอฟเฟกต์ที่เหมาะสมกันให้ด้วย) ซึ่งคุณสามารถเล่นได้ทันทีหรือจะปรับแต่งซาวน์ดในแบบที่คุณชอบและเก็บไว้ใน User Program ได้ 2 โปรแกรม

  ระบบการทำงานของ Ampworks จะแบ่งเป็น 3 ฟังค์ชั่นใหญ่ๆ คือการจำลองเสียง : ชนิดของแอมป์ (Amp Type), ตู้ลำโพง (Cabinet) และเอฟเฟกต์ (Effect)

ชนิดของแอมป์ (Amp Type) มีหัวแอมป์ให้เลือกถึง 11 แคแรกเตอร์เสียงแอมป์คลาสสิคที่ทุกคนใฝ่หา มีอะไรบ้างเรามาดูกัน :
 
 

BTQ CLN

แชนนัลเสียงคลีนของแอมป์บูติคไฮเอนด์คัสตอมเมดที่โดดเด่นในเรื่องของซาวน์ดที่เกิดจากการสร้างอย่างละเมียดละไม และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากคุณเลือกใช้คู่กับตู้ลำโพงแบบ 412CLS, 412VIN และ 412MDN
BLK212 แอมป์คอมโบรุ่นวินเทจตู้สีดำของ Fender เช่นพวก Twin Reverb, Super Reverb เป็นต้น เป็นตู้ที่ใช้ดอกลำโพงขนาด 12 นิ้ว 2 ดอก เป็นแอมป์ที่นิยมใช้ในหมู่นักกีตาร์คันทรี่, บลูส์, แจ๊ส, ร็อค ฯลฯ ค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องของเสียงใส แต่ถ้าคุณจะลองเพิ่มเอฟเฟกต์เสียงแตกเข้าไปก็ไม่เลวเหมือนกัน หากคุณเลือกใช้คู่กับตู้ลำโพง 212BLK ก็จะดีมาก

TWD410

แอมป์คอมโบตู้สีเหลือง Tweed ของ Fender ประมาณตู้ Bassman ที่ใช้ดอกลำโพงขนาด 10 นิ้ว 4 ดอก เดิมทีเป็นแอมป์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเบสแต่กลับได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่มือกีตาร์ไม่ว่าจะเป็นร็อค, คันทรี่, บลูส์ และอีกมากมาย ความจริง Bassman เป็นแอมป์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ '50 ตั้งแต่เพิ่งเริ่มมีกีตาร์ไฟฟ้าเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่ในยุคนั้น Bassman จะเป็นแอมป์ที่ถูกนำไปเป็นต้นแบบให้กับแอมป์ยี่ห้ออื่นๆมากมายรวมถึงแอมป์สายพันธุ์อังกฤษด้วย หากคุณเลือกแอมป์ชนิดนี้ จะเพอร์เฟกต์มากหากคุณเลือกตู้ลำโพง 410TWD คู่กันด้วย
AC15 ตู้แอมป์คอมโบ VOX AC15 รุ่นวินเทจที่ผลิตในปี 1962 ขอแนะนำให้ใช้กับตู้ลำโพง 112VOX
AC30TB ตู้แอมป์คอมโบ VOX AC30 ซึ่ง TB ในที่นี้หมายถึง Tube หรือ "หลอด" เนื่องจากครั้งหนึ่งในราวทศวรรษ '70 Vox ได้ปรับระบบแอมป์ AC30 ให้เป็นทรานซิสเตอร์ แต่น้ำเสียงคลาสสิคของ VOX AC30 ที่มือกีตาร์ทั่วโลกยอมรับกลับยังคงเป็นแอมป์หลอดอยู่นั่นเอง เป็นแอมป์ที่นิยมใช้ในหมู่มือกีตาร์ตั้งแต่แนวป็อบไปยันเฮฟวี่ร็อคเลยทีเดียว หากคุณเลือกแอมป์ชนิดนี้ขอแนะนำให้เลือกใช้คู่กับตู้ลำโพง 212VOX

BLUES

หัวแอมป์วินเทจสายพันธุ์อังกฤษ ไม่บอกก็รู้ว่าต้องเป็น Marshall ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็น "บริติช ซาวน์ด" อย่างแท้จริง ขอแนะนำให้เลือกใช้คู่กับตู้ลำโพง 412CLS จะดีมาก

UK '70s

หัวแอมป์ Marshall 100 วัตต์ที่ผลิตในปี 1969 ที่โดดเด่นในย่านเสียงแหลม ขอแนะนำให้ใช้คู่กับลำโพง 412CLS

UK '80s
หัวแอมป์ Marshall 100 วัตต์ที่ผลิตในปี 1983 รุ่นที่มีมาสเตอร์วอลลุ่ม เหมาะมากหากจะใช้ร่วมกับตู้ลำโพงไม่ว่าจะเป็น 412CLS, 412VIN และ 412MDN

UK MDN

หัวแอมป์ Marshall สมัยใหม่ขนาด 100 วัตต์ จะเลือกใช้คู่กับตู้ลำโพง 412VIN หรือ 412MDN ก็ได้

RECTO

หัวแอมป์สายพันธุ์อเมริกาที่เน้นพลังและความแรงอย่าง Mesa/Boogie เพราะหากพูดถึงตัวแทนของ "อเมริกันซาวน์ด" ก็ต้องยกให้ Mesa อย่างไม่ต้องสงสัย แอมป์ชนิดนี้จะค่อนข้างโดดเด่นที่พลังของเสียงแตกและออกไปทางดิบกร้าว มากกว่าพวกแอมป์อังกฤษที่จะให้น้ำเสียงออกไปทางโทนอุ่น วอร์มและนุ่มนวลกว่า เป็นแอมป์ที่เหมาะกับผู้เล่นที่ต้องการซาวน์ดกีตาร์หนักๆ ใช้ได้ดีทั้งฮาร์ดร็อค เฮฟวี่เมทัล นูเมทัล ฮาร์ดคอร์ ฯลฯ และขอแนะนำให้ใช้คู่กับตู้ลำโพง 412VIN หรือ 412MDN ก็ได้
FUZZ เสียงแตกพร่าของตู้หรือพ่วงกับเอฟเฟกต์ Fuzz วินเทจ อาทิ Dallas-Arbiter Fuzz Face, Big Muff ของ ElectroHarmonix หรือจะเป็น Roger Mayer Fuzz ฯลฯ

 
 
นอกจากชนิดของแอมป์แล้วสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญต่อมาก็คือการเลือกใช้ตู้ลำโพงให้เหมาะสมกัน ใน Ampworks มีตู้ลำโพงวินเทจและโมเดิร์นให้เลือกใช้ถึง 11 แบบ และก่อนที่คุณจะเลือกลำโพง คุณควรจะมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะเด่นของซาวน์ดลำโพงในแบบต่างๆบ้างเล็กน้อย โดยจะขออธิบายอย่างพอสังเขปดังนี้

ชนิดตู้ลำโพง

ลำโพงที่ทำด้วยแม่เหล็ก Alnico magnet
แม่เหล็ก Alnico เป็นโลหะผสมระหว่าง อะลูมิเนียม/นิเกิล/โคบอลท์ แอมป์วินเทจไม่ว่าจะเป็น Fender, Marshall, Vox ฯลฯ ส่วนใหญ่จะใช้แม่เหล็กชนิดนี้ ให้น้ำเสียงก้องกังวาน ย่านแหลมนุ่มนวล และย่านต่ำฟังดูค่อนข้างโปร่ง และมีความราบรื่นสม่ำเสมอ

ลำโพงที่ทำด้วยแม่เหล็ก Ceramic magnet
แม่เหล็ก Ceramic จะมีความเป็นไฮ-ไฟมากกว่า ตอบสนองต่อรายละเอียดของสัญญาณเสียงได้ดี เรียกว่าสัญญาณเข้าไปอย่างไรก็จะออกมาอย่างนั้น ลำโพงที่ใช้แม่เหล็กชนิดนี้จึงให้ซาวน์ดที่ค่อนข้างแน่น

ขนาดของดอกลำโพง
ขนาดดอกยิ่งใหญ่ยิ่งให้น้ำเสียงย่านทุ้มมากกว่า ลึกกว่าและโปร่งกว่า ในขณะที่ดอกลำโพงเล็กกว่าจะให้น้ำเสียงย่านทุ้มน้อยกว่า บางกว่าและซาวน์ดจะทึบกว่า ขนาดของดอกลำโพงที่ใช้ในแอมป์กีตาร์ทั่วไปมีตั้งแต่ 8, 10 จนถึง 12 นิ้ว

จำนวนดอกลำโพง
จำนวนดอกยิ่งมากยิ่งให้น้ำเสียงที่กว้างกว่า น้ำเสียงย่านทุ้มมากกว่าและลึกกว่า และให้เสียงดังกว่า ในขณะที่การใช้ลำโพงหลายดอกจะให้ซาวน์ดที่ต่างจากการใช้ดอกเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้ลำโพงชนิดเดียวกันก็ตาม หากคุณใช้ลำโพงยี่ห้อและรุ่นเดียวกันขนาด 60 วัตต์ 2 ดอกย่อมได้เสียงที่ดังกว่าใช้ดอกเดียว และน้ำเสียงที่ออกมาก็ไม่เหมือนกันด้วย

ตู้ลำโพงแบบหลังเปิด (Open-Back)
ตู้ลำโพงแบบหลังเปิด จะทำให้อากาศมีการหมุนเวียนอยู่ภายใน และให้เสียงที่กระจายออกทั้งทางด้านหน้าและหลังของตู้ ทำให้ได้น้ำเสียงที่มีบรรยากาศและมิติของอากาศที่อยู่ล้อมรอบมากกว่าตู้ที่มีด้านหลังปิดทึบ พวกตู้แบบหลังเปิดนี้จะโดดเด่นที่น้ำเสียงย่านกลางหรือ mid-range และมีความโปร่ง

ตู้ลำโพงแบบหลังปิด (Closed-Back)
สำหรับตู้ลำโพงแบบหลังปิดทำให้เสียงพุ่งตรงออกทางด้านหน้าตู้ ค่อนข้างโดดเด่นที่น้ำเสียงย่านต่ำ

ขนาดวัตต์ของลำโพง
ลำโพงวัตต์ต่ำจะให้ซาวน์ดออกทึบๆ เสียงย่านต่ำไม่ค่อยทุ้มลึกมากนักจึงต้องเน้นที่เสียงย่านกลาง และเรนจ์เสียงไม่ค่อยกว้างนัก ลำโพงวัตต์ต่ำจึงมักจะเข้าคู่ได้ดีกับกีตาร์ที่ใช้สายขนาดเล็ก เพราะโดยธรรมชาติของสายเล็กจะให้น้ำเสียงไบรท์ ใส และมีย่านแหลมมาก ถ้าหากใช้คู่กันเราก็จะได้ซาวน์ดที่ออกมามีทั้งความแหลม เสียงทุ้มเต็มขึ้น และซาวน์ดโดยรวมออกมาหนาขึ้นด้วย

ส่วนลำโพงวัตต์สูงๆ จะมีความละเอียดและมีเรนจ์เสียงกว้างกว่า Hi-Fi กว่า ให้น้ำเสียงโดดเด่นทั้งย่านแหลมและย่านทุ้ม จึงเหมาะที่จะใช้กับกีตาร์ที่ใช้สายขนาดใหญ่ เพราะธรรมชาติของสายขนาดใหญ่จะให้น้ำเสียงที่หนาทึบและทุ้มลึกกว่า เมื่อใช้คู่กันเราก็จะได้ซาวน์ดที่มีพลังและสะอาด

 
 
หน้าถัดไป >

 
 

 

 

    ©Copyright 2005 Beh Ngiep Seng Musical Instruments Ltd.,Part. All reserved.