สิ่งหนึ่งที่ได้รับการปรับเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดก็คือสีสันหน้าตาจาก AX1500G สีบรอนซ์เงินมาเป็นสีดำที่ให้ความรู้สึกบึกบึนทนทานอยู่ในที ส่วนตำแหน่งปุ่มปรับต่างๆถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำความเข้าใจกับฟังค์ชั่นการทำงานของเครื่องได้ง่ายโดยไม่ต้องเปิดคู่มือ หลักๆแล้วก็ยังคงแบ่งเป็นสัดส่วน ได้แก่ ส่วนของ Effect Block , ปุ่มหมุนสำหรับปรับค่าพารามิเตอร์ต่างๆ , สวิตช์เหยียบสำหรับเลือกโปรแกรม , หน้าจอแสดงผล LCD/ หน้าปัดคอนโทรล และส่วนของแป้นเหยียบเอ็กเพรสชั่นพีดัล
AX3000G นำเสนอแอมป์โมเดลและเอฟเฟกต์รวมแล้วถึง 72 ชนิดอัพเกรดจากเดิม 56 ชนิดที่เคยมีให้ใน AX1500G ซึ่งในรุ่นใหม่นี้ได้มีการจัดระบบการแบ่งเอฟเฟกต์ในส่วนของ Effect Block ได้อย่างเป็นหมวดหมู่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะมีการแบ่งเป็น : Pre Effect, Drive/Amp, Modulation, Delay และ Reverb โดยจะเห็นว่าเอฟเฟกต์ Delay แต่เดิมใน AX1500G จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Effect Block ประเภท Pedal และ Ambience เท่านั้น
สำหรับแป้นเหยียบเอ็กเพรสชั่น พีดัลนั้น นอกจากจะใช้คอนโทรลเอฟเฟกต์อย่างปรกติทั่วไปเช่นเป็นโวลลุ่มเท้าหรือวาห์ วาห์แล้ว เรายังใช้แป้นเหยียบตัวนี้ในการควบคุมลักษณะน้ำเสียงหรือการปรับค่าพารามิเตอร์ของเอฟเฟกต์อื่นๆได้อย่างอิสระอีกด้วย เช่น ใช้คอนโทรลลักษณะการกวาดของเสียงในเอฟเฟกต์ "Flanger" หรือใช้เป็นตัวคอนโทรลค่าดีเลย์ไทม์ในเอฟเฟกต์ "Echo Plus" หรือใช้คอนโทรลความก้องของเสียง (Decay Time) ของเอฟเฟกต์ประเภท "Reverb" รวมไปถึงสามารถใช้คอนโทรลค่า Speed ในเอฟเฟกต์จำพวก Chorus, Flanger, Phaser และอีกมากมายได้อีกด้วย
อีกปุ่มหนึ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาก็คือ " คอนโทรล สวิตช์ " ซึ่งช่วยให้ผู้เล่นสะดวกกับการคอนโทรลเอฟเฟกต์ยิ่งขึ้นเมื่อใช้ในการแสดงสด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะเปลี่ยนไปใช้เอฟเฟกต์ที่คุณพ่วงไว้ภายนอก คุณก็สามารถใช้มันเป็นตัวเปิด / ปิดชุดของเอฟเฟกต์หรือ Effect Block ที่กำลังใช้อยู่ หรือใช้มันเป็นตัวตั้งค่าพารามิเตอร์ของเอฟเฟกต์ได้ อย่างเช่นเซ็ต Tap Tempo ของ Delay ได้แบบเรียลไทม์ หรือใช้เปลี่ยนความเร็วในการหมุนของเอฟเฟกต์ที่เลียนแบบตู้ลำโพงหมุน หรือใช้เป็นตัวคอนโทรลตัว ESS หรือ Expression Step Sequencer ก็ได้
|